
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า รัฐบาลปรับใช้งบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งประกอบด้วย (i) โครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ (ii) โครงการลงทุนด้านคมนาคม (iii) โครงการลงทุนพัฒนาการท่องเที่ยว และ (iv) โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้ วางแผนให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 หรือทำเป็นงบผูกพันก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2568
การปรับการใช้งบประมาณจากการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไปสู่การลงทุนในโครงการขนาดเล็ก-กลาง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาษีทางการค้าของสหรัฐฯ โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ การคมนาคม และการท่องเที่ยว
นอกจากจะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการจ้างงานและการใช้จ่ายของรัฐแล้ว ยังช่วยเสริมศักยภาพของการผลิตในระยะยาว ขณะเดียวกันโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยในการกระจายรายได้ และเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจฐานราก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงการ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่รวดเร็วและกระจายลงสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตามแผนที่วางไว้ หากภาครัฐสามารถผลักดันให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริงภายในปีงบประมาณก็จะสามารถสร้าง multiplier effect ที่มากกว่าการแจกเงินแบบครั้งเดียวซึ่งมีผลระยะสั้นและอาจกระจุกตัวในบางกลุ่มผู้บริโภค
ทั้งนี้ ควรมีกลไกติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความคุ้มค่าทางการคลังในระยะยาวได้อย่างแท้จริง

แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังอ่อนแอ ขณะที่ BOI มีการปรับเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกาศมาตรการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยประกอบด้วย (i) ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพของ SMEs ไทย (ii) งดส่งเสริมกิจการที่มีความเสี่ยงจากมาตรการการค้าต่างประเทศ (iii) กำหนดเงื่อนไขกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ และ (iv) ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ นอกจากนี้ ยังออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม เช่น จากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี สำหรับกิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยว และจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี สำหรับกิจการโรงแรม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีความเปราะบาง ได้แก่ (i) สภาพัฒน์ฯ รายงานการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปียังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ -0.9% YoY (ii) มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ใน
ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท ลดลง 7.8% YoY และ (iii) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ที่ 89.9 ข้อมูลเหล่านี้อาจเกิดจากภาคธุรกิจตัดสินใจชะลอการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ล่าสุด BOI ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการลงทุนทั้งในภาคการผลิตและภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจไม่เพียงพอในการเร่งฟื้นฟูการลงทุนในวงกว้าง ขณะที่ภาคธุรกิจยังรอความชัดเจนจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจแกนหลัก นโยบายของภาครัฐที่ทันต่อเหตุการณ์และตรงกลุ่มเป้าหมายอาจมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในปี 2568 จึงยังมีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่อเนื่อง และกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
