อดีตรมว.คลัง ยินดีกับ ผู้ว่าธปท. “วิทัย รัตนากร”

Date:

อดีต รมว.คลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง โพสต์เฟสบุ๊ก “กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij” ระบุว่า

ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้ว่าฯ วิทัย รัตนากร

เป็นช่วงเวลาการรับตำแหน่งที่ท้าทายและน่าสนใจมาก

แต่ก่อนอื่น ขอพูดถึงเรื่อง ‘การเป็นอิสระ‘ เพราะเป็นประเด็นที่สังคมกังวล ท่านวิทัยเคยรับตำแหน่งที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งมาแล้วหลายตำแหน่ง โดยสังคมคุ้นเคยว่าปกติทั่วไปตำแหน่งเหล่านั้นจะได้มาต้องมีการวิ่งเต้นไม่มากก็น้อย แถมรัฐบาลนี้ได้แสดงความไม่พอใจกับผู้ว่าแบงก์ชาติท่านปัจจุบันมาตลอด จึงเกิดความรู้สึกว่าใครที่รัฐบาลนี้เลือกคงต้องมีความ ‘เป็นพวก‘ ผู้แต่งตั้ง ไม่มากก็น้อย

ผมว่าท่านไม่ต้องออกมายืนยันทางใดทางหนึ่ง แต่ควรจะคลี่คลายความกังวลนี้ด้วยการทำงานของท่านให้เป็นที่ปรากฏ

ส่วนตัวผมนั้น ได้ยินคำชมเชยจากเพื่อนร่วมงานในอดีตของท่านมาหลายคน  เคยได้ยินด้วยซ้ำไปว่ามี สส.ที่เคยวิ่งขอให้ช่วยเรื่องปัญหาหนี้สินของคนโน้นคนนี้ (ที่ออมสิน) ถูกท่านปฏิเสธเป็นประจำ

ที่สำคัญที่สุดคือ จากนี้ไปท่านมีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่ พรบ.แบงก์ชาติถูกร่างขึ้นมาเพื่อปกป้องความเป็นอิสระขององค์กร (และของท่านผู้ว่าฯ) ไม่ว่าผู้แต่งตั้งท่านจะคิดหรือหวังอย่างไร จากนี้ไปถือว่า ’ตั้งแล้วตั้งเลย‘ เอาท่านออกไม่ได้

และว่าไปแล้วโอกาสที่ท่านจะอยู่ในตำแหน่งนานกว่ารัฐบาลที่แต่งตั้งท่านนั้นสูงมาก จึงเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่

แม้ท่านไม่ได้เป็นลูกหม้อแบงก์ชาติ และอาจมีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคน้อยกว่าอดีตผู้ว่าฯ หลายคน แต่ในแบงก์ชาติมีคนเก่งเยอะมาก ผมเชื่อว่าท่านจะไม่ขาดคำปรึกษาและเพื่อนร่วมงานที่ดี ในขณะที่ประสบการณ์เศรษฐกิจจุลภาคจองท่าน การที่ท่านเคยกู้เงินในฐานะ CFO บริษัทเอกชน และการที่ท่านเคยมองตาชาวบ้านที่เดือดร้อนหนี้ท่วมหัวมาแล้วหลายคนจนนับไม่ถ้วน (ในฐานะ ผอ.ธนาคารออมสิน) ผมเชื่อว่านี่คือประสบการณ์ที่จะช่วยท่านกำหนดนโยบายที่เหมาะสมที่แบงก์ชาติได้เช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมมีเพียงว่า แบงก์ชาติมีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ไม่ได้มีหน้าที่หลักที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโต และบางครั้งสองเป้าหมายนี้จะขัดแย้งกัน!

ส่วนงานที่รอท่านอยู่ท้าทายมากหลายเรื่องจริงๆ เริ่มด้วยปัญหาเศรษฐกิจ สภาวะเงินฝืด แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ต้นทุนทางการเงินที่สูงมาก (ส่วนต่างดอกเบี้ย) และปัญหาหนี้ครัวเรือน 

โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ท้าทายแบงก์ชาติ บางเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น เราจะอยู่กับ crypto อย่างไร? เราจะมี CBDC หรือไม่? หรือเราจะส่งเสริม baht stable coin? แล้วเราจะป้องกันการฟอกเงินได้จริงหรือไม่? เราจะปรับตัวกับ de-fi  และจะส่งเสริมการแข่งขันด้วยการส่งเสริม fintech อย่างไร?

บางการเปลี่ยนแปลงมาจากภูมิรัฐศาสตร์ เช่นการอ่อนค่าต่อเนื่องของสกุลเงินดอลล่าร์ (ตามนโยบายของรัฐบาลอเมริกา?) จะส่งผลกับไทยอย่างไร? ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การถือทุนสำรองหรือไม่?

และสุดท้ายคือบทบาทแบงก์ชาติต่อนโยบายของรัฐบาล เช่น พรบ.ศูนย์กลางการเงิน ที่รัฐบาลมีเจตนาจะสร้างพื้นที่ให้ธุรกิจการเงินในไทยอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของแบงก์ชาติ (และฝ่ายกำกับอื่นๆ) แบงก์ชาติจะป้องกัน integrity ของระบบการเงินของเราได้หรือไม่อย่างไร?

ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง และเป็นกำลังใจครับ สังคมจะจำท่านอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่านแล้ว

ปล. เราไม่รู้จักกัน แต่ผมเคยเป็นเด็กฝึกงานอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ ในสมัยที่คุณแม่ท่านวิทัยเป็นผู้จัดการ ใหญ่เมื่อปี 2528

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าธปท. ที่ถูกคาดหวัง ‘ลงจากหอคอย สู่ท้องทุ่ง’ 

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าธปท. ที่ถูกคาดหวัง ‘ลงจากหอคอย สู่ท้องทุ่ง’ เพื่อฟังเสียงจากรากหญ้า

‘พิชัย’ เลือก “วิทัย รัตนากร” นั่งผู้ว่าแบงก์ชาติ

‘พิชัย’ เลือก “วิทัย รัตนากร” นั่งผู้ว่าแบงก์ชาติ มีความรู้ที่หลากหลาย เหมาะกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงหลายด้าน

LINE ดูดวง เผยเทรนด์คนไทย “ต้องการที่พึ่งทางใจ”

LINE ดูดวง เผยเทรนด์คนไทย “ต้องการที่พึ่งทางใจ” บริการขอพร–แก้บน–ทำบุญออนไลน์ ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมืองไทยประกันชีวิต คว้ารางวัลเกียรติยศ

เมืองไทยประกันชีวิต คว้ารางวัลเกียรติยศ “บริษัทยอดเยี่ยมด้านประกันสุขภาพแห่งปี 2568” จากงาน Money & Banking Awards 2025