![](https://jaihindnews2.com/wp-content/uploads/2025/02/ประกันชีวิค.png)
นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิต โพสต์เฟสบุ๊ก บรรยง วิทยวีรศักดิ์ ระบุว่า
Copayment แบบไทยๆ
เหมือนการสร้างทางด่วน
บางที เมื่อเราพูดถึงเรื่อง copayment หลายคนยังอาจจะรู้สึกงงๆ หรือรู้สึกว่ามีแต่ความสะดวกสบาย ลองฟังตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้ แล้วคุณจะเข้าใจ
เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น รถยนต์ก็มีมากตาม ทำให้เกิดรถติด ผู้คนพากันบ่นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางด่วน ประชาชนพอใจเพราะเดินทางได้สะดวกสบายขึ้น คนที่เดือดร้อนคือคนที่ถูกเวนคืนที่ เพื่อสร้างทางด่วน
คนที่เดือดร้อนมี 2 ประเภท
ประเภทที่หนึ่งคือ พวกที่รุกล้ำคูคลอง ต้องถูกรื้อถอนจัดระเบียบให้ถูกต้อง กลุ่มนี้ไม่มีใครเห็นใจ (simple disease)
ประเภทที่สองคือ คนที่ปลูกบ้านใกล้คลอง หรือใกล้แม่น้ำ แล้วรัฐบาลจะสร้างทางด่วนเลียบแม่น้ำ คนเหล่านี้ต้องถูกเวนคืนที่อยู่อาศัย เพื่อใช้สร้างทางด่วนให้ประชาชนได้ใช้ เป็นคนที่ต้องเสียสละเพื่อให้คนอื่นสะดวกสบาย (general disease)
ถ้าอย่างนั้น จะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ให้รัฐบาลสร้างทางด่วนคร่อมคลองไปเลย หรือสร้างทางด่วนซ้อนบนถนนสายเดิม ซึ่งไม่ต้องเวนคืนที่เพิ่มเติม มันอาจจะใช้งบประมาณมากขึ้น เงินงบประมาณบางส่วนที่จะนำมาสร้างสาธารณูปโภคอย่างอื่นอาจจะช้าลง นี่คือหลักการที่ทุกคนช่วยกันเสียสละ
หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็คือ การถูกรางวัลที่หนึ่ง
ถ้าคุณซื้อลอตเตอรี่ ทุกเดือนจะมีคนถูกรางวัลที่หนึ่ง 100 คน (ถ้าพิมพ์เต็มตามโควตา 100 ล้านใบ) คนที่ถูกรางวัลก็ได้เงินมากมายมหาศาล แต่สำหรับ copayment มันตรงกันข้าม
ในแต่ละเดือน จะมีคนโชคร้ายที่ป่วยหนักเรื้อรัง ที่เบิกถึง 400% แล้วเข้าเงื่อนไขต้องร่วมจ่าย 30% ในปีถัดไป ถ้าพวกเขายังป่วยต่อเนื่อง และยังต้องใช้ค่ารักษานับล้านบาท เขาก็เหมือนกับถูกรางวัลที่หนึ่ง แต่เป็นรางวัลที่หนึ่งที่แสนเจ็บปวดครับ คนที่ไม่ถูกรางวัล ที่เป็นคนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร ฉันใดก็ฉันนั้นครับ
ถามว่า วันข้างหน้า คุณอยากจะเป็นหนึ่งในคนที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง หรือเปล่าครับ
หมายเหตุ : บทความนี้ คงเป็นบทความท้ายๆ ที่ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่อง copayment เพราะผมคิดว่าผมได้สะท้อนมุมมองและปัญหาทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นมาพอสมควรแล้ว ก็อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินครับ