![](https://jaihindnews2.com/wp-content/uploads/2025/02/ใจฮิน-แนวนอน-ตัวเล็ก-ปี68-Recovered-Recovered-95.png)
นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิต โพสต์เฟสบุ๊ก บรรยง วิทยวีรศักดิ์ ระบุว่า
8 ประเด็น Copayment
ที่ผมชี้แจงที่รัฐสภาเช้านี้
เช้านี้ ( 29 มกราคม) เวลา 9.30 น. ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน ให้ไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการร่วมจ่ายสินไหมหรือ Copayment ที่รัฐสภา
ผมได้แสดงความเห็น 8 ประเด็นดังนี้
1. ระบบประกันสุขภาพทุกประเทศเจอปัญหา
ด้วยค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นสูงมาก เฉลี่ยปีละ 12% จากราคายาที่แพงขึ้นและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ทุก 6 ปี ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว จึงทำให้ระบบประกันสุขภาพของทุกประเทศเจอปัญหา ต้องเพิ่มปรับเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง
2. Copayment คือพระเอกที่จะเข้ามาช่วย
ที่ประเทศสิงคโปร์จึงนำระบบการให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย ในระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 1990 เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และพยายามใช้บริการของโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด และในปี 2019 รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้บังคับให้ทุกบริษัทประกันชีวิต ต้องขายประกันสุขภาพที่บังคับให้ผู้เอาประกันมีส่วนร่วมจ่าย 10% และมีความรับผิดชอบส่วนแรก (deductible) อีก 2000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 50,000 บาทด้วย
3. สิงคโปร์มีการทบทวนเบี้ยประกันทุกสามปี
เมื่อค่าใช้จ่ายทางด้านรักษาพยาบาลสูงขึ้นมาก ทำให้เบี้ยประกันที่คำนวณไว้เดิม ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ รัฐบาลจึงร่วมกับภาคธุรกิจทบทวนเบี้ยประกันสุขภาพทุก 3 ปี เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ธุรกิจอยู่ได้ ประชาชนก็ได้รับการคุ้มครอง
4. ในระยะยาวทุกประเทศต้องบังคับให้มี Copayment หมด
เพื่อป้องกันปัญหาการใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งคิด หรือที่เรียกว่า buffet syndrome ที่ผู้ป่วยไม่ต้องควักกระเป๋าเพิ่ม รัฐบาลต้องบังคับให้บริษัทประกันชีวิตขายประกันสุขภาพที่ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบ (coinsurance) ซึ่งเป็นแนวทางที่สิงคโปร์และมาเลเซียใช้มาหลายปีแล้ว
5. Copayment ที่กำลังจะใช้นี้ ไม่ตรงกับเจตนารมณ์เดิม
หลักการของ copayment คือให้ลูกค้าร่วมรับผิดชอบ ไม่ใช่การลงโทษลูกค้าดังนั้น เมื่อให้ลูกค้าร่วมจ่าย ต้องลดเบี้ยประกันให้ ซึ่งมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ (New health standards) ที่ประกาศในปี 2564 เขียนไว้ชัดเจนว่า
“ในการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยนี้ บริษัทจะสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อตกลงความคุ้มครอง โดยการเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ตามอัตราและหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ไม่เกินร้อยละ (กำหนดได้ไม่เกินร้อยละ 30) ของค่าใช้จ่ายที่ได้รับความคุ้มครอง และปรับลดเบี้ยประกันภัยในปีต่ออายุตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด “
แสดงว่าเจตนาของกฎหมายข้อนี้ ต้องการให้ร่วมรับผิดชอบ โดยมีการปรับลดเบี้ยตามความเหมาะสม แต่ที่ประกาศออกมาล่าสุดนี้คือ ลดการคุ้มครองแต่ไม่ลดเบี้ยประกันให้
6. ไม่ช่วยแก้ปัญหา คนที่เดือดร้อนคือผู้ป่วยตัวจริง
หลักเกณฑ์ที่ออกมาว่าต้องเข้ารักษาพยาบาลเกินสามครั้ง และมีค่าใช้จ่ายเกิน 200% หรือ 400%นั้น สำหรับพวกที่ตั้งใจทุจริต ก็อาจเข้าไปรักษา 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นการเช็คอัพ พวกนี้ก็ยังคงทำได้อยู่
แต่คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือผู้สูงอายุหรือผู้ที่เจ็บป่วยตัวจริง แล้วแพทย์วินิจฉัยได้ไม่ชัดเจน ต้องเทียวไปเทียวมาโรงพยาบาลหลายครั้ง บางคนจ่ายเบี้ยประกันมา 30 ปีแล้ว ไม่เคยเบิก พอจะเริ่มเบิกก็ถูกลงโทษ
เท่าที่ทราบ ไม่มีประเทศใดที่มีระบบการลงโทษผู้เบิกสินไหมมาก แบบที่เรากำลังจะทำอยู่นี้ (โดยการลดวงเงินคุ้มครอง) ไม่ว่าที่สิงคโปร์ มาเลเซียหรือฮ่องกง
7. ระบบประกันคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
หลักการประกันคือ การใช้คนที่แข็งแรงหมู่มาก มาช่วยคนที่อ่อนแอส่วนน้อย วันที่เรายังทำงานได้อยู่ เราก็ร่วมจ่าย แต่วันหนึ่งเมื่อเราอ่อนแอลง ก็จะมีคนอื่นมาช่วยเฉลี่ยค่าใช้จ่าย แต่ระบบที่กำลังจะประกาศนี้ เป็นการทอดทิ้งคนที่ป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง ซึ่งไม่ควรมีใครถูกลงโทษแบบนี้
8. ทางออกคือกรมธรรม์ใหม่ทุกฉบับ ต้องร่วมรับผิดชอบ
เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเอง และตรวจตราการคิดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล กรมธรรม์ประกันสุขภาพทุกฉบับ ต้องให้ผู้ประกันมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษา โดยมีการลดเบี้ยประกันภัยในระดับที่จูงใจ เพราะพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อต้องร่วมจ่าย จะมีความยับยั้งชั่งใจ ส่วนใครที่ต้องการประกันสุขภาพแบบที่เบิกได้เต็มที่ ก็ยังมี แต่จะมีเบี้ยประกันที่สูงกว่ามาก
การประชุมในวันนี้ นอกจากที่มีการเรียกผมไปชี้แจงแล้ว ยังมีท่านรองเลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และท่านนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย แห่งประเทศไทย เข้าร่วมชี้แจงด้วย มีการแสดงข้อมูล ถึงความจำเป็นที่ต้องนำเรื่อง copayment มาบังคับใช้ ซึ่งผมขอไม่นำรายละเอียดมาลง เพราะอาจจะอธิบายผิดเพี้ยนไปจากที่เจ้าตัวอภิปรายเอาไว้
แต่ในที่สุด ท่านประธานคณะกรรมาธิการ คือคุณณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ ก็ได้ขอให้สำนักงาน คปภ. รวบรวมตัวเลขที่ชัดเจนว่า การบังคับใช้แนวทางใหม่นี้ จะช่วยลดการปรับเพิ่มเบี้ยประกันได้มากน้อยเพียงใด โดยให้แสดงเป็นตัวเลขมากกว่าที่จะพูดในแง่หลักการกันลอยๆ
จากนั้นคณะกรรมาธิการก็ได้ประชุมเรื่องอื่นต่อไป ขณะที่พวกเราที่ไปชี้แจงเรื่อง copayment ก็ได้เดินออกจากที่ประชุม ในเวลา 11.30 น.
หวังว่าข้อมูลที่ผมชี้แจงไป (ซึ่งรวบรวมมาจากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าสิงคโปร์ มาเลเซียหรือฮ่องกง) จะเป็นประโยชน์กับคณะกรรมาธิการรวมถึงสำนักงาน คปภ. จะได้นำไปทบทวนและแก้ไขปัญหาการประกันสุขภาพได้อย่างแท้จริง