เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมจัดงาน “Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025”

Date:

บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดย นางสาวนาเดีย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้แทนบริษัทฯ เข้าร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

เมืองไทยประกันชีวิตให้การสนับสนุนงานในครั้งนี้เป็นปีที่ 2  โดยเล็งเห็นถึง โอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงนวัตกรรมสุขภาพกับธุรกิจประกันชีวิต ผ่านการสร้างระบบนิเวศทางสุขภาพแบบบูรณาการ (Health Ecosystem) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถ  

– พัฒนาแบบประกันและบริการที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและเฉพาะบุคคล (Personalized & Preventive Healthcare)

– นำเทคโนโลยีและข้อมูลจากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใน Hackathon ไปปรับใช้ในการบริหารความเสี่ยงและยกระดับประสบการณ์ลูกค้า

– ส่งเสริมบทบาทของบริษัทในฐานะ ผู้นำด้านการประกันสุขภาพยุคใหม่ (Health Partner) ที่ไม่เพียงแต่ให้ความคุ้มครอง แต่ยังร่วมดูแลสุขภาพชีวิตลูกค้าอย่างรอบด้าน

ที่ผ่านมา เมืองไทยประกันชีวิตได้จัดตั้ง Fuchsia VC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบสุขภาพและธุรกิจประกันชีวิตในระยะยาว  

#เมืองไทยประกันชีวิต #MuangThaiLife

ทั้งนี้ งาน “Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025” จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเปิดเวทีการแข่งขัน Hackathon แบบเข้มข้น ระดมไอเดียค้นหาสุดยอดนวัตกรรมโซลูชั่นอย่างยั่งยืนด้านการรักษาและบริการสุขภาพระดับนานาชาติ พร้อมจัดตั้งความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะเวลา 3 ปี เพื่อวางรากฐานให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านสุขภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยการแข่งขัน Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025 Hackathon ครั้งที่สอง จะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568

Hackathon ครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากหลากหลายสาขาวิชา มารวมทีมและทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในประเด็น “โรคเรื้อรัง” (Chronic Disease) และ “สุขภาพจิต” (Mental Health) ตลอดช่วงสุดสัปดาห์และต่อเนื่องถึงงานประชุม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักเทคโนโลยี นักออกแบบ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน จะร่วมกันพัฒนาแนวทางแก้ไขที่น่าสนใจต่อความท้าทายด้านสุขภาพทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

AI วันนี้ พลิกโฉมสุขภาพแห่งอนาคต

Hackathon ปีนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศักยภาพอันมหาศาลของ ปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างสรรค์ (Generative AI) โดยธีมหลักของงานคือ “AI Today, Transforming Tomorrow’s Healthcare” ซึ่งมุ่งเน้นการนำ AI ไปใช้ในการปฏิรูปการดูแลผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพระบบสุขภาพสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำในบริการ AI มีศักยภาพในการแก้ปัญหาเชิงระบบในภาคสาธารณสุขได้อย่างลึกซึ้ง งานประชุมจะเปิดเวทีสำหรับการพูดคุยในระดับอาเซียน ทั้งในรูปแบบเสวนาใหญ่ และกิจกรรมแบบมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งนักวิจัยจากศิริราชจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับภาคอุตสาหกรรม นักศึกษา ผู้ชนะจาก Hackathon และผู้เข้าอบรม พร้อมทั้งเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมสุขภาพอาเซียน

Siriraj x MIT Hacking Medicine ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกเร่งการเปลี่ยนแปลง โดยผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการลงมือปฏิบัติ ความร่วมมือนี้อาศัยประสบการณ์จริงจาก MIT ในการจัด Hackathon ซึ่งความสำเร็จของงาน Siriraj x MIT Hacking Medicine 2024 เป็นแรงผลักดันให้แผนความร่วมมือขยายต่อไปถึงปี 2027

Hackathon และการประชุมประจำปีนี้ถูกออกแบบให้กลายเป็นเวทีระดับภูมิภาค ที่เชิญชวนผู้ร่วมงานจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพรูปแบบใหม่ ผ่านความร่วมมือข้ามสาขาวิชา กิจกรรมนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมสุขภาพระหว่างประเทศ โดยอาศัยพลังจากมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุขภาพ อุตสาหกรรมยา ระบบบริการสุขภาพ สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และองค์กรภาครัฐ-เอกชน

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิทัศน์นวัตกรรมสุขภาพในประเทศไทย เราไม่ได้เพียงแค่จัด Hackathon แต่เรากำลังสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนไอเดียที่มีศักยภาพให้กลายเป็นโซลูชันที่พร้อมออกสู่ตลาด และมีผลกระทบในระดับโลก”

AI Today, Transforming Tomorrow’s Healthcare

งาน Hackathon ปีนี้เน้นศักยภาพของ AI ในการตอบโจทย์ความท้าทายที่ผู้ป่วย บุคลากรการแพทย์ และระบบสุขภาพเผชิญ โดยธีมหลัก “AI Today, Transforming Tomorrow’s Healthcare” จะเชื่อมโยงทั้ง Hackathon และงานประชุมผู้เข้าร่วม Hackathon จะรวมทีมแบบข้ามสาขาวิชา เพื่อแก้ปัญหาจริงจากโลกความเป็นจริง โดยต้องออกแบบโซลูชันที่ขยายผลได้และนำไปใช้ได้จริง โดยปี 2025 นี้มี 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ โรคเรื้อรัง และ สุขภาพจิต โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศิริราชให้คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับทีมต่าง ๆ Siriraj x MIT Hacking Medicine ยังสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้าน BioHealth และ Digital Health

กิจกรรม 5 วัน ประกอบด้วย:

Hackathon เข้มข้น (31 ต.ค. – 2 พ.ย.): ทีมข้ามสายงานพัฒนาแนวทางจัดการโรคเรื้อรังและสุขภาพจิต

Showcase และ Networking (2 พ.ย.): ทีมชนะนำเสนอผลงานต่อผู้เชี่ยวชาญ พร้อมโอกาสสร้างเครือข่ายในวันที่ 3 พ.ย.

ประชุมนวัตกรรมสุขภาพนานาชาติ (4 พ.ย.): ปาฐกถาและเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นักลงทุน และผู้ปฏิบัติการ พร้อมกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม

Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025 เปิดรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน—มหาวิทยาลัย รัฐบาล องค์กรธุรกิจ และชุมชนผู้ประกอบการ—ที่สนใจการปฏิรูปด้านสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับ “Golden Ticket” เพื่อเข้าร่วม MIT Grand Hack 2026 ที่เมืองบอสตัน พร้อมรับคำปรึกษาและโอกาสในการรับทุนสนับสนุน

ศ. ดร. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “Siriraj x MIT Hacking Medicine ไม่ใช่แค่เวทีแข่งขันทางวิชาการ แต่คือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ด้านธุรกิจสุขภาพ เรากำลังสร้างเวทีระยะยาว ที่จะผลักดันธุรกิจสุขภาพอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับคำปรึกษา ทุนการศึกษาสำหรับเข้าโครงการ HEALTHI Lab โอกาสในการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน นักลงทุน และแหล่งทุนเพื่อขยายผลไปสู่ตลาดจริง”

หลักสูตรผู้บริหารใหม่ เปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ แนวปฏิบัติ และบริการ ขณะที่กิจกรรมแบบเปิดช่วยจุดประกายบทสนทนาในวงกว้าง

หลักสูตรผู้บริหารใหม่ เปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ แนวปฏิบัติ และบริการ ขณะที่กิจกรรมแบบเปิดช่วยจุดประกายบทสนทนาในวงกว้าง การนำผลงานนวัตกรรมสู่ตลาด ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้สร้างสรรค์ด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก MIT จึงร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทย เพื่อเปิดตัว หลักสูตรอบรมผู้บริหารแบบเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Action Learning Executive Course) ซึ่งออกแบบมาเพื่อพัฒนา ผู้ประกอบการ (entrepreneurs) รวมถึง ผู้สร้างนวัตกรรมภายในองค์กร (intrapreneurs) และ ผู้นำด้านนวัตกรรมในภาคธุรกิจ (corporate innovation leaders) ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวปฏิบัติ และบริการที่ตอบโจทย์ได้จริง โดยหลักสูตรใหม่นี้ใช้ชื่อเบื้องต้นว่า HEALTHI Lab (Healthcare Entrepreneurial Action Learning for Thailand Innovation) และจะเริ่มอบรมรุ่นแรกภายในปีนี้

ผู้เข้าอบรมจะได้รับ:

● โอกาสเข้าถึงบริบทของโรงพยาบาลจริงเพื่อเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง

● ทรัพยากรทางเทคนิคเพื่อสร้างต้นแบบ (prototype) และทดลองแนวคิดอย่างต่อเนื่อง

● กิจกรรมกลุ่มเชิงโครงสร้างเพื่อเร่งกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา

● การให้คำปรึกษา (mentorship) เพื่อเตรียมความพร้อมให้นวัตกรรมสามารถเข้าสู่ตลาด หรือถูกนำไปใช้จริงภายในองค์กร

● ผู้เรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วม Hackathon และงานประชุม ผ่านกิจกรรมเชิงโต้ตอบในแต่ละช่วงของงาน ซึ่งจะช่วยให้แนวคิดได้รับการปรับแต่งและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงท้ายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นการขัดเกลาโครงการให้พร้อมใช้งาน

MIT นำประสบการณ์จากทั้งในมหาวิทยาลัยและจากพื้นที่รอบบอสตัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางบ่มเพาะนวัตกรรมสุขภาพระดับโลก มาสร้าง โมเดลการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ร่วมกับประเทศไทย โดยมีศิริราชเป็นฐานของบริบททางคลินิก ทำหน้าที่เป็น “สนามทดลอง” สำหรับวิศวกร ผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการทดสอบ ตรวจสอบความถูกต้อง และผลักดันนวัตกรรมให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่มีความหมาย

ดร.แอนจาลี ซัสทรี (Anjali Sastry) อาจารย์อาวุโสแห่ง MIT Sloan School of Management ผู้ก่อตั้ง GlobalHealth Lab แห่ง MIT และอดีตรองคณบดีของ MIT Open Learning และอดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ Harvard กล่าวว่า “HEALTHI Lab พลิกโฉมนวัตกรรมสุขภาพด้วยการฝังผู้ประกอบการไว้ในบริบทของโรงพยาบาล พร้อมประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เราใช้แนวทางลงมือทำจริง (hands-on) เพื่อให้มั่นใจว่าโซลูชันสามารถใช้งานได้จริง และยังเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่มอบข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าสำหรับผู้นำที่ต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยผู้เข้าร่วมจะประกอบด้วยผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และพนักงานที่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรมจากภายในองค์กร สิ่งที่ทำให้โครงการนี้โดดเด่นคือ ขอบเขตระดับภูมิภาค ซึ่งเรากำลังสร้างสายส่งนวัตกรรมที่เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสุขภาพจากบอสตัน เข้ากับระบบนิเวศที่มีชีวิตชีวาและความท้าทายเฉพาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

สุดท้าย ทีม HEALTHI Lab ยังมีแผนจัดกิจกรรม เปิดให้ทุกคนเข้าร่วม เช่น Mini-Webinar แบบออนไลน์ ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากผู้นำนวัตกรรมสุขภาพระดับแนวหน้าจากทั่วโลก

ผู้ที่สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดการประชุมสุขภาพ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine 2025’ หรือเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon และ หลักสูตร HEALTHI Lab สมัครได้แล้วทางเว็บไซต์ www.SirirajxMITHackingMedicine.com

เกี่ยวกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีปณิธานที่จะผลิตบัณฑิต ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขและค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนทุกระดับเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด บนเป้าหมาย “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” และวิสัยทัศน์ “สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก” โดยมีพันธกิจสำคัญดังนี้ จัดการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อผลิตบัณฑิต บุคลากรด้านสุขภาพ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคต ให้บริการทางการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาวะโดยเน้นระดับตติยภูมิ เพื่อเป็นต้นแบบของระบบบริการสุขภาพ และวิจัยสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านสุขภาพและการศึกษา ด้วยการบูรณาการพันธกิจ เพื่อดำเนินการให้มีคุณภาพ คุณธรรม ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล นำมาซึ่งศรัทธาและความนิยมสูงสุดจากประชาชน รวมทั้งเป็นสถาบันหลักในการชี้นำสังคมไทยและนานาชาติ ในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต

เกี่ยวกับ MIT Hacking Medicine

โครงการ ‘MIT Hacking Medicine’ ได้จัดการแข่งขัน Hackathon มามากกว่า 200 ครั้งในกว่า 30 ประเทศ และสามารถก่อตั้งบริษัทมากกว่า 100 แห่งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ อดีตนักศึกษาดีเด่นได้แก่  www.pillpack.com (Amazon ซื้อกิจการในราคา 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ), www.rubiconmd.com ( Oak Street Health ซื้อกิจการในราคา 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), และ www.overjet.ai (ได้รับเงินทุน 27 ล้านดอลลาร์จากบริษัท General Catalyst) โครงการ ‘MIT Hacking Medicine’ ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรและบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ The Kauffman Foundation, Massachusetts General Hospital, Emergency Nurses Association, Pfizer, Microsoft, Samsung, GE, Merck, และ AthenaHealth นอกจากนี้โครงการยังเคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อชั้นนำหลายสำนัก อาทิ SXSW, The Wall Street Journal, Slate, และ Wired

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

นายกฯ พบค่ายมวยไทย กรุงลอนดอน 

นายกฯ พบ ‘ผู้บริหารค่ายมวยไทย Fight City Gym‘ กรุงลอนดอน เสนอพัฒนาค่ายมวย-ครูสอน-ขยายหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน 

เจรจาภาษีสหรัฐไม่ชัดเจน ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

เจรจาภาษีสหรัฐไม่ชัดเจน ซ้ำเติมความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

ไทยยูเนี่ยน ยืนหนึ่งด้านความยั่งยืนรับรางวัล Top 1% 

ไทยยูเนี่ยน ยืนหนึ่งด้านความยั่งยืนรับรางวัล Top 1% กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จาก S&P Global Sustainability Yearbook Ceremony ประจำปี 2568

ฮอนด้า ปรับกลยุทธ์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

ฮอนด้า แถลงทิศทางธุรกิจของฮอนด้า ปี 2025 เดินหน้าปรับกลยุทธ์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ให้ตอบรับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน