
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊กมั่นใจว่า ดิจิทัลวอลเล็ตตกม้าตาย โดยมีรายละเอียดว่า
ดิจิทัลวอลเล็ต ไปตกม้าตายที่ ธ.ก.ส. ชัดเจนมาก
พรบ.ธ.ก.ส. บัญญัติว่า ที่จะทำให้ ดิจิทัลวอลเล็ตตกม้าตาย ระบุไว้ว่า
“มาตรา ๙ ธนาคารมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์
การเกษตรสําหรับการ
(ก) ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม
(ข) ประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้
(ค) พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
(ง) ดําเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการดําเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
(๒) ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม
(๓) ดําเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมท้ังองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของ เกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือ ชุมชนให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
(๔)ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์เพื่อใช้ดําเนินงานภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความในวรรคหนึ่ง (๑) (ข) (ค) และ (ง) รวมทั้งการดําเนินการตามความในวรรคหนึ่ง (๒) (๓) และ (๔) ให้กระทําได้เท่าที่กําหนดในกฎกระทรวง”
** ผมเห็นว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่เข้ากฎหมายชัดเจน เพราะ
(๑) (ก) กำหนดว่า ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้สําหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม – ไม่เข้า
(๑) (ข) กำหนดว่า ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้สําหรับการประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ – ไม่เข้า
(๑) (ค) กำหนดว่า ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้สําหรับการพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ – ไม่เข้า
หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
ตรงนี้เดิมผมเข้าใจผิดว่ามีวรรคระหว่างคำว่า หรือ กับคำว่า พัฒนา
แต่ในราชกิจจานุเบกษาหน้า 15 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 พรบ. ฉบับที่ 5 (ดูรูป) ข้อความใน (ค) ไม่มีวรรคตอน
ดังนั้น กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกรจึงถูกบังคับด้วยข้อความที่มาก่อนหน้า
กล่าวคือ ต่องอ่านว่า
ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้สําหรับการพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ไช่สําหรับการพัฒนาความรู้ – ไม่เข้า
(๑) (ง) กำหนดว่า ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้สําหรับโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม – ไม่เข้า
(๒) เป็นเรื่องประกอบธุรกิจของ ธ.ก.ส. – ไม่เข้า
(๓) กำหนดว่า ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
แต่ในราชกิจจานุเบกษาหน้า 3 วันที่ 14 มีนาคม 2549 พรบ. ฉบับที่ 6 (ดูรูป) การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ต้องอยู่ในบังคับเงื่อนไขที่ระบุก่อนหน้า
กล่าวคือ ต้องอ่านว่า
สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรได้เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยความช่วยเหลือทางการเงินนั้นมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชนและเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือ ชุมชนให้มีประสิทธิภาพ – ไม่เข้า
ผมเชื่อว่าท่านเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกาย่อมจะมองเห็นประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว
จึงมีความเห็นว่าดิจิทัลวอลเล็ต จะไปตกม้าตายที่กฤษฎีกาในการตีความเกี่ยวกับ ธ.ก.ส. ชัดเจน