นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันความร่วมมือโครงการพัฒนาเส้นทาง รถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1 งานก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา (ระยะที่ 1) โดยได้เห็นชอบแนวทางและมาตรการร่วมกันในการเร่งรัดให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา โดยปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และรอการลงนามจำนวน 2 สัญญา ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
2 ความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) ที่ฝ่ายไทยได้ออกแบบรายละเอียด งานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไปพร้อมกับการขออนุมัติโครงการ โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติ การประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573
3 การเชื่อมต่อโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ โดยระยะห่างประมาณ 30 เมตร ประกอบด้วยทางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567
สำหรับการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขต ของงาน และราคากลาง เพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด และการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า โดย รฟท. ดำเนินการศึกษาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่รับรองการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างทางรถไฟขนาด 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน รวมถึงเป็นพื้นที่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางราง และใช้เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ อาคาร คลังสินค้า การให้บริการคลังสินค้า
รวมทั้งการให้บริการพิธีการทางศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า X–ray ตู้สินค้า การตรวจรังสี โดยกำหนดให้นาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และจีน โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบให้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเสนอต่อสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการปรับปรุงและดำเนินความร่วมมือให้ลึกซึ้งและประสานงานอย่างใกล้ชิดในการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อผลักดันให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าวก้าวหน้าต่อไป
นอกจากนั้น ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบถึงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงคมนาคม โดย สทร. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการอำนวยความสะดวกและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบรางจากต่างประเทศ และ ที่ประชุมได้ให้การรับรองและเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 32 ขึ้นในประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้คืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือและสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเพื่อให้บรรลุประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งรถไฟของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน