ธนาคารกรุงศรี ประเมินว่า เศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนชะลอลงจากเดือนก่อนตามภาคท่องเที่ยวและการบริโภคที่แผ่วลง แต่ภาพรวมในไตรมาส 2 ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมิถุนายน จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลงจากเดือนก่อน (-4.4% และ -3.5% MoM sa) ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่แผ่วลงต่อเนื่อง (-0.2%) จากการหดตัวของการบริโภคสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลง (-0.7%) อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว (+0.6%) และการใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวจากปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
โดยรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ปัจจัยหนุนสำคัญจากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นหลังจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต้องล่าช้าไปกว่า 7 เดือน โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ในไตรมาส 2 อาจเติบโตที่ +0.7% QoQ sa หรือ +1.8% YoY (เทียบกับ +1.1% QoQ sa หรือ +1.5% YoY ในไตรมาสแรก) ข้อมูล GDP ในไตรมาส 2 ทางการจะรายงานในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออก ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคของภาคเอกชนที่ประสบกับค่าจ้างโดยรวมเฉลี่ยทั้งประเทศลดลง (-1.2%YoY ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567) อีกทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
มูลค่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวถึง 35% แต่เครื่องชี้อื่นๆ สะท้อนว่าการลงทุนในระยะนี้อาจยังฟื้นตัวช้า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,412 โครงการ (+64% YoY) เงินลงทุน 458.4 พันล้านบาท (+35% YoY) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (139.7 พันล้านบาท) ยานยนต์และชิ้นส่วน (39.9 พันล้านบาท) เกษตรและแปรรูปอาหาร (33.1 พันล้านบาท) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (25.3 พันล้านบาท) และอุตสาหกรรมดิจิทัล (25.1 พันล้านบาท) สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 889 โครงการ (+83% YoY) เงินลงทุน 325.7 พันล้านบาท (+16% YoY) ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน
แม้สัญญาณการลงทุนในระยะปานกลางปรับดีขึ้นในบางอุตสาหกรรมเป้าหมาย สะท้อนจากข้อมูลทั้งยอดขอรับส่งเสริมที่ขยายตัวทั้งทางด้านจำนวนและมูลค่าเงินลงทุน รวมถึงข้อมูลการอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวน 1,451 โครงการ เงินลงทุน 476.3 พันล้านบาท (+27% YoY) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า มีจำนวน 1,332 โครงการ เงินลงทุนรวม 438.7 พันล้านบาท (+87% YoY) อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลธปท.รายงานดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรกยังเติบโตต่ำ (+0.6% YoY) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในภาวะหดตัว (-2.0% YoY) และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% รวมถึงล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เดือนกรกฏาคมปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยส่วนใหญ่ปรับลดลงตามภาคการผลิต ซึ่งอาจชี้ว่าการลงทุนภาคเอกชนในระยะนี้ยังคงฟื้นตัวช้า
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นและอาจส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนในระยะถัดไป (วันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล และวันที่ 14 สิงหาคม ฟังคำวินัยฉัยคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน)