นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ และสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ตลอดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าได้ทุกภูมิภาค
ล่าสุด การรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบความพร้อมของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงย่านสถานีนครปฐม – ประแจสับหลีก ระยะทาง 1 กิโลเมตรที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งผลการตรวจสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการรถไฟฯ พร้อมที่จะเปิดใช้งานรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร แบบไร้รอยต่อ ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 421 กิโลเมตร ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567
ส่วนการใช้ระบบทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-token) ในการเดินรถระหว่างที่มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้ว 61.323% คาดว่าจะใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 2568 จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่ง เส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และธุรกิจขนส่งสินค้าอื่นได้ อีกด้วย
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร นับเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางลงสู่ภาคใต้ โดยมีการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาด 1 เมตร ขนานไปกับทางรถไฟเส้นเดิม เริ่มจากสถานีนครปฐม จังหวัดนครปฐม ผ่าน จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังสถานีชุมพร จังหวัดชุมพร พาดผ่านพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวของภาคกลางตอนล่าง เช่น ชะอำ หัวหิน และเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่ภาคใต้
ทั้งนี้ รูปแบบโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านตัวเมือง ซึ่งมีจุดแลนด์มาร์คก่อสร้างที่สำคัญพิเศษ 2 แห่ง คือ สถานีหัวหินแห่งใหม่ เป็นสถานียกระดับ มี 3 ชั้น ซึ่งมีความสวยงามสอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานีหัวหินเดิม และยังมีสะพานรถไฟแบบคานขึง (Extradosed Railway Bridge) แห่งแรกของประเทศ ที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ หลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาในแม่น้ำแม่กลอง ทำให้มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ พร้อมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี
นายเอกรัชกล่าวว่า นอกจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้แล้ว การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าในก่อสร้าง ดังนี้
1. โครงการรถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ก้าวหน้าแล้ว 12.038% สัญญา 2 ช่วงงาว –เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ก้าวหน้าแล้ว 15.055% และสัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ก้าวหน้าแล้ว 11.507%
2. โครงการรถไฟสายใหม่ บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ก้าวหน้าแล้ว 9.512% สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ก้าวหน้าแล้ว 0.184%
ขณะเดียวกันยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพิ่มเติมอีก 7 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ซึ่งอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ส่วนช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ อยู่ในขั้นตอนเตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อรอเสนออนุมัติโครงการ ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ได้มีการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ รวมถึงกำลังทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
นายเอกรัชกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง และเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นทางแล้วเสร็จ จะทำให้การรถไฟฯ มีรถไฟทางคู่ครอบคลุมการเดินทางมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ มีเส้นทางคู่รวมกันมากกว่า 2,370 กิโลเมตร ภายในปี 2572 ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนทางคู่ทั่วประเทศมากถึง 10 เท่า หรือคิดเป็น 65 % ของระยะทางรวมทั้งหมด มากกว่าเดิมที่มีทางคู่เพียง 6 % สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและการขนส่ง อีกทั้งช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางได้ 1–1.50 ชั่วโมง สามารถถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ได้มหาศาล อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์
ที่สำคัญโครงการรถไฟทางคู่ยังช่วยสร้างการเติบโตของประเทศได้อีกหลายมิติ สามารถกระจายโอกาสทางสังคม เพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง ตลอดจนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งการรถไฟฯ มั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
และการท่องเที่ยวของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง