กองทุนรวมวายุภักษ์ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย

Date:

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์

ด่วนที่สุด

วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง  กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย

เรียน  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 

 ตามที่กระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ 

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย จึงขอให้ข้อมูลมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของท่าน ดังนี

๑. ประวัติกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑

ปรากฏในข่าว The Standard ว่า กองทุนวายุภักษ์ ๑ จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นกองทุนรวมพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐขณะนั้น และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน โดยแบ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) และประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

ต่อมาในปี ๒๕๕๖ บริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ข้อมูล ณ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๗ กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนแบ่งออกเป็นประเภทหลักทรัพย์ต่างๆ ตามข้อมูล ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗ สัดส่วนการลงทุนหลักคือ หุ้นสามัญ ร้อยละ ๘๘.๓๖ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ ๗.๐๑ ที่เหลือเป็นตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร ฯลฯ

๒. หนังสือชี้ชวน

ปรากฏข่าวในสำนักข่าวมติชน หนังสือชี้ชวนระบุว่า 

ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับสิทธิในการจ่ายเงินปันผล จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และอัตราสูงสุดร้อยละ ๙ ต่อปี ตลอดระยะเวลาการลงทุน ๑๐ ปีแรก และผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

ส่วนผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะถูกคำนวณจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน หักลบด้วยผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อาจไม่ได้รับเงินปันผลหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

เงื่อนไขดังกล่าวจึงมีผลดังนี้

(ก)   ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี และโดยกองทุนฯ เป็นผู้รับประกันไม่ขาดทุนเงินต้น ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่งในวันนี้อยู่ที่ร้อยละ ๒.๕๖๔ ต่อปี จึงชัดเจนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้เปรียบผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) 

(ข)   ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้รับผลตอบแทนต่อเมื่อหลังจากหักผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปเสียก่อน และทำให้โอกาสได้รับคืนเงินต้นลดลงเนื่องจากต้องหักการจ่ายเงินคุ้มครองเงินต้นแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปเสียก่อน จึงชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้เปรียบผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)

๓. การฝ่าฝืนกฎหมาย

(ก)   เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้ประโยชน์โดยมีการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี (no downside) โดยยังมีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย (only upside) โดยกำหนดเพดานร้อยละ ๙ ต่อปีซึ่งสูงมาก 

และยังมีโอกาสได้กำไรส่วนทุน (capital gain) จากการลงทุนในหุ้น แต่กลับไม่ต้องรับความเสี่ยงขาดทุนเงินที่ลงทุนไป (capital loss) เพราะมีการค้ำประกันเงินต้น อันเป็นการได้เปรียบมากกว่านักลงทุนทั่วไป นอกจากนี้ นักลงทุนที่ได้รับประโยชน์อาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

(ข)   ส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) เป็นผู้ที่ถูกรอนสิทธิ โดยรายได้จะลดลง (income downside) เพราะต้องหักเงินที่ต้องชดเชยเพื่อให้ผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ออกไปจากผลกำไรประจำปีเสียก่อน 

รวมทั้งความเสี่ยงขาดทุนเงินที่ลงทุนจะสูงขึ้น (capital risk upside) เพราะต้องหักเงินที่ต้องชดเชยค้ำประกันเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ซึ่งอาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติออกไปเสียก่อน

(ค)   กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ดังนั้น กติกาตามหนังสือชี้ชวนครั้งนี้ จึงเข้าข่ายเป็นการที่กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐยินยอมรับการรอนสิทธิของตนเองเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ซึ่งอาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โดยใช้ทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทเป็นเครื่องมือในการถ่ายเทผลประโยชน์ 

แต่ต้องไม่ลืมว่าทรัพยสิทธิในกองทุนฯ ที่เป็นของกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐนั้น เจ้าของที่แท้จริงก็คือประชาชนทั้งประเทศ 

(ง)   ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การที่กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐรอนสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ซึ่งอาจมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ (โดยถึงแม้เป็นคนไทยก็มีจำนวนเพียงหยิบมือเดียว เทียบกับการเอาทรัพยสิทธิดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม) นั้น 

อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยผิดหลักนิติธรรม (มาตรา ๓) เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ (มาตรา ๒๗) ไม่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นคนต่างชาติ (มาตรา ๕๐ (๒) , ๕๒) 

(ค)   ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ตามกฎหมายใดในปัจจุบันที่จะไปจุนเจือและรับประกันผลประโยชน์และเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติ 

ดังนั้น รัฐบาลของท่านจะต้องแก้ไขกฎหมายให้มีอำนาจนี้เสียก่อน 

ส่วนการออกแบบโครงการลงทุนที่มีผู้ถือหน่วยสองประเภท โดยผู้ถือหน่วยประเภทที่หนึ่ง (equity tranch) ยินยอมรอนสิทธิของตนเองให้แก่ผู้ถือหน่วยประเภทที่สอง (highly rated tranch) นั้น เป็นเรื่องที่กระทำได้ในเชิงธุรกิจถ้าให้ผลตอบแทนสูงขึ้นแก่ผู้ถือหน่วยประเภทที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังกลับทำโครงการที่ยอมถูกรอนสิทธิโดยไม่ได้อะไรชดเชย เข้าข่ายเป็นการแจกเงินการกุศล เป็นการเอาทรัพยสิทธิของประชาชนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทไปทำให้เสียหาย

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า สถานการณ์ในตลาดหลักทรัพย์มิได้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นดังเช่นในปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง และการสร้างความเชื่อมั่นที่ตรงประเด็นก็คือกระทรวงการคลังควรให้ความสำคัญต่อธรรมาภิบาลในการบริหารบริษัทจดทะเบียน

จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

Share post:

spot_img

Related articles

ก.ล.ต. ฟันบิ๊ก NUSA 6 ราย ฟ้อง DSI กรณีทุจริตบริษัท

ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการและผู้บริหาร NUSA กับพวก รวม 6 ราย ต่อ DSI กรณีทุจริตและการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จ พร้อมส่งเรื่องต่อ ปปง.

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ย ตามเฟด

“เศรษฐพุฒิ” บอก กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยตามเฟด ดูเรื่องศก.โต กรอบเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินเป็นหลัก

จับตาผลกระทบจากน้ำท่วม ทำเศรษฐกิจไทยชะลอ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ไว้ที่ 2.6% จับตาผลกระทบเฉพาะหน้าจากปัญหาน้ำท่วม และเศรษฐกิจหลักชะลอตัว

ออมสิน ออกคลิป เตือนระวังถูกมิจฉาชีพหลอกเอาเงิน

ออมสิน ออกคลิป เตือนระวังถูกมิจฉาชีพหลอกเอาเงิน อย่ารับเบอร์แปลก อย่ากดลิงก์ที่ไม่รู้จัก

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427