นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ระบุว่า
อุ๊งอิ๊ง ปัดสวะ
โยน ผลศึกษานิรโทษกรรม เป็นเรื่องของสภาฯ
จากปรากฏการณ์ที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ในฐานะประธานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ชิงปิดประชุม ทำให้ญัตติรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ยังพิจารณาค้างอยู่ในสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา และจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในสัปดาห์นี้อีกครั้ง
นับว่าเป็นสัญญาณที่ส่งให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีการลงมติในตอนนั้น จะเห็นคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลแตกกระจัดกระจาย และอาจทำให้ญัตติตกไปเลย เพราะพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่เห็นชอบ ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศงดออกเสียง รวมไปถึงพรรคเพื่อไทยเจ้าของญัตติ ก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะมีมติอย่างไร จึงทำให้ประธานที่ประชุม ซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทย รีบตัดไฟแต่ต้นลม ปิดประชุมสภาเพื่อยื้อเวลาออกไปก่อน
ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตอกย้ำว่า ในที่ประชุม สส.พรรค มีมติจากการศึกษารายละเอียดที่รอบคอบ ครบถ้วนชัดเจนอย่างดีแล้ว จึงมีมติไม่เห็นชอบ ไม่มีใครมาสั่ง และสำหรับตนเชื่อว่า รัฐบาลคงไม่เอาเผือกร้อนเรื่องนี้ไปอุ้มไว้ แล้วมาสั่งให้พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไปทางใดทางหนึ่ง ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาจะดีที่สุด
หลังจากงานจัดเลี้ยงแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นแตกต่างกันในบางประเด็น โยนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เป็นการปัดความรับผิดชอบของรัฐบาล ถ้าหากผลการโหวตออกมาเป็นเช่นไร ก็เป็นเรื่องของส.ส. ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ต้องลดกระแสความกดดันรัฐบาล สอดคล้องกับความเห็นของนายจุรินทร์
สาเหตุน่าจะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ยังยืนยันในมติเดิมของพรรค คือไม่รับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ และมีแนวความคิดที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับการทำงานการเมืองในอนาคต
เหตุผลก็คือพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ก็ไม่กล้าบีบบังคับให้พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่ญัตตินี้เป็นของพรรคเพื่อไทย ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวโน้มจะไม่ผ่านสูงมาก สุดท้ายผลการศึกษาฉบับนี้ก็แท้งไป