เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ช่วงนี้ต้องอยู่ที่บ้านบ่อย เวลาว่างเหลือเยอะ จึงใช้เวลาดังกล่าวตรวจสอบข่าวสาร บัญชีทรัพย์สินนักการเมือง และข่าวนายกรัฐมนตรี ซึ่งของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็มีข่าวออกมาให้ตรวจสอบอยู่เรื่อย ๆ วันนี้ก็มี จึงได้ส่งหนังสือถึง กกต. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ กรณี จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้องเป็นข้อ ๆ ดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ หัวข้อ กลัวไม่ครบ! นายกฯ อิ๊งค์ หนักใจ เร่งถ่ายรูปทรัพย์สินยื่น ป.ป.ช. ย้ำต้องทำให้ถูกกม. ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า “เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 22 ต.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเตรียมข้อมูลการโอนหุ้นบริษัทต่างๆ ก่อนยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร ซึ่งต้องให้เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง”
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2024 เว็บไซต์ www.thaimoveinstitute.com หัวข้อ เปิดโป๊ะที่แท้ นายกฯอิ๊งค์ ไม่ได้ร่วมซ้อมพิธีรับเสด็จฯ จนเกิดเรื่องฉาวสนั่น พบแค่เดินทางมาตรวจตั้งแต่กันยา-ฟังขั้นตอน ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งดังนี้
ต่อมามีคลิปที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ก็คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จฯด้วย และได้มีการเดินร่วมกับขบวนเสด็จฯ แต่ถูกส่งสัญญาณมือให้นายกรัฐมนตรีอุ๊งอิ๊ง ทราบเบาๆ เรื่องการเดินล้ำแนวแถวเสด็จงานพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีรายงานเปิดเผยถึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ได้เกิดจากการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธี (ตามข่าวน่าจะไม่ได้ไปร่วมซ้อมทุกนัด)
ข้อ 3. จากการกระทำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามข่าวทั้งสองข้างต้น จึงควรไปตรวจสอบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตราและข้อต่าง ๆ ดังนี้
รัฐธรรมนูญ
มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160
มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561
ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
ข้อ 4. กรณีตามข่าวเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่มีการระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร” นั้น เป็นเหตุอันควรตรวจสอบเนื่องจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยแจ้งการลาออกจากบริษัทต่าง ๆ ไปแล้ว เหตุใดจึงยังมีบริษัทมาช่วยทำบัญชีทรัพย์สินซึ่งควรเป็นเรื่องส่วนตัว และการช่วยนั้น จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 9 หรือไม่ อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่
ข้อ 5. กรณีตามข่าวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2024 ที่ในข่าวมีการระบุไว้เป็นส่วน ๆ ว่า “เรื่องการเดินล้ำแนวแถวเสด็จงานพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นจำนวนมาก” หรือที่ระบุว่า “ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็มีรายงานเปิดเผยถึงความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ได้เกิดจากการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธี” นั้น กรณีการล้ำแนวแถวเสด็จงานพระราชพิธี และการที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมซ้อมพิธีจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 19 หรือไม่
ข้อ 6. ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงจากข่าวทั้งสองข้างต้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบต่อไปว่า การกระทำนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดังกล่าว ทั้งสองเหตุการณ์นั้น จะเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่ หรือมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ กรณี จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่