นายธีระชัยภูวนาถนรานุบาลอดีตรมว.คลังประธานกรรมการด้านวิชาการพรรคพลังประชารัฐโพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัยภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
เอาเงินของชาติไปอุ้มแบงค์พาณิชย์
รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นแค่การตั้งโจทย์ตามตำราแต่ไม่แสดงวิธีการที่ทำได้จริง หรือในส่วนที่มีวิธีการ ก็เน้นให้ประโยชน์เฉพาะแก่นายทุน ตัวอย่างเช่นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
รัฐบาลเลียนแบบแนวคิดแก้ปัญหาหนี้ที่พรรคพลังประชารัฐโดยสองอดีตรัฐมนตรีคลัง ผมและดร.อุตตม สาวนายน เคยเสนอไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ให้ใช้เงินที่แบงค์พาณิชย์จ่ายกองทุนฟื้นฟูครึ่งหนึ่งเป็นเวลาห้าปี แต่กลับบิดข้อเสนอไปอุ้มแบงค์พาณิชย์ แทนที่จะดูแลประชาชน
นโยบายของรัฐบาลมีข้อตำหนิ ดังนี้
1. ลอยแพลูกหนี้ที่อ่อนแอ
รัฐบาลจะช่วยแต่เฉพาะลูกหนี้ที่ปริ่มน้ำ คือรายที่เพิ่งค้างชำระยังไม่เกิน 1 ปี
ในข้อเท็จจริง ลูกหนี้กลุ่มนี้ประคองตัวเองผ่านวิกฤตโควิดมาได้ ช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง แบงค์พาณิชย์จึงต้องแก้ปัญหากลุ่มนี้ตามครรลองปกติด้วยเงินของตัวเอง รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้แบงค์พาณิชย์เข้ามาลัดคิวใช้ประโยชน์จากเงินของภาครัฐ
เงินของภาครัฐจะต้องช่วยลูกหนี้รายย่อยที่จมน้ำก่อน เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระต่อสังคมในที่สุด กลุ่มนี้จมน้ำมาตั้งแต่วิกฤตโควิด รายได้ยังกลับไปไม่ถึงระดับก่อนโควิดด้วยซ้ำ และรัฐต้องช่วยเหลือเร่งด่วน
รัฐบาลแย้มแนวคิดชัดเจนว่า เหตุผลที่จะช่วยเฉพาะกลุ่มที่ปริ่มน้ำก็เพราะเห็นว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ จึงเป็นการมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่แบงค์พาณิชย์เป็นสำคัญ กลับเจตนาละทิ้งประชาชน
2. ไม่ได้ช่วยลูกหนี้รายย่อย
สองอดีตรัฐมนตรีคลังเสนอให้ช่วยลูกหนี้รายย่อย โดยเน้นครัวเรือนที่รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท เพราะข้อมูลจากเครดิตบูโรแสดงว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหาหนักสุด แต่รัฐบาลกลับไปกำหนดตามยอดหนี้ โดยหนี้บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท หนี้รถไม่เกิน 8 แสนบาท
ผมมีความเห็นว่า ควรแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทุกประเภทตามระดับรายได้ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ไม่ว่าจะมีการกู้บ้านหรือกู้รถหรือไม่
นอกจากนี้ รัฐบาลให้กลุ่มหนี้เอสเอ็มอี ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทเข้ามาในโครงการด้วย ผมมีความเห็นว่าเงินที่มาจากภาครัฐนั้น ต้องช่วยลูกหนี้ครัวเรือนให้ครบถ้วนเสียก่อน
เพราะแบงค์พาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจด้วยความชำนาญ เมื่อเกิดปัญหา แบงค์พาณิชย์ต้องแก้ปัญหาโดยใช้เงินของตนเองก่อน ไม่ใช่จ้องที่จะใช้เงินจากภาครัฐ
3. แบงค์พาณิชย์แบกภาระน้อย
สองอดีตรัฐมนตรีคลังเสนอให้บังคับแบงค์พาณิชย์เอาเงินจากภาครัฐไปลดยอดหนี้เงินต้น (haircut) โดยจะต้องควักกระเป๋าเอากำไรสะสมคืนให้ลูกหนี้ เอามาร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลด อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐบาลกับแบงค์พาณิชย์
แต่รัฐบาลกลับบิดข้อเสนอเพื่อให้ประโยชน์แก่แบงค์พาณิชย์ โดยไม่มีการลดยอดหนี้เงินต้น (haircut) มีแต่ให้ลูกหนี้พักการชำระดอกเบี้ยและจ่ายเฉพาะเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี จึงเป็นการใช้เงินของภาครัฐไปชดเชยแก่แบงค์พาณิชย์
ผมขอย้ำว่า การที่รัฐบาลบิดข้อเสนอเพื่อเอาเงินจากภาครัฐไปเป็นประโยชน์แก่แบงค์พาณิชย์เป็นหลักนั้น ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั้งประเทศ เพราะเป็นเจ้าของเงินในกองทุนฟื้นฟู
4. ไม่แก้ปัญหายึดบ้านยึดรถ
สองอดีตรัฐมนตรีคลังเห็นว่าโครงการใช้เงินกองทุนฟื้นฟูเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ถึงแม้แบงค์พาณิชย์จะต้องควักกระเป๋ามาร่วมลงขัน แต่ก็จะเป็นการฟื้นฟูลูกหนี้ ให้โอกาสชีวิตใหม่ ซึ่งจะกลับมาเป็นลูกค้าที่ดี อันจะเป็นประโยชน์แก่ระบบแบงค์พาณิชย์
จึงได้เสนอให้แบงค์พาณิชย์ต้องแก้ปัญหาลูกหนี้ที่จมดินด้วย คือรายที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว กำลังจะถูกบังคับคดียึดบ้าน ยึดรถ และอาจถูกฟ้องล้มละลาย
โดยกำหนดว่า แบงค์ใดที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย จะต้องยอมชะลอการยึดหลักประกัน และจะต้องยอมลดราคาขายประกัน เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยจะกำหนดร่วมกับ ธปท. ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
ปรากฏว่า มาตรการของรัฐบาลได้ลอยแพลูกหนี้ที่จมดินไปทั้งสิ้น จึงเป็นมาตรการที่เอียงกะเท่เร่ กลับไปเทผลประโยชน์ที่มาจากส่วนรวมของประเทศ เอาไปเพื่ออุ้มแบงค์พาณิชย์อย่างไม่สมดุล
ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และสองอดีตรัฐมนตรีคลังจะมีการแถลงข่าวเจาะลึกในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กลับเน้นกระตุ้นกระเป๋าของนายทุน จัดที่พรรคพลังประชารัฐ ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567