“ธีระชัย” ซัดรัฐบาล ปรับภาษีเพื่อคนรวยมากกว่าคนจน
“ธีระชัย” ซัดรัฐบาลทำตามทักษิณ ปรับภาษีเพื่อคนรวยมากกว่าคนจน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
คลังปรับภาษีเพื่อคนรวยหรือคนจน?
The Better เผยแพร่แนวคิดรัฐมนตรีคลัง ซึ่งตรงกับที่คุณทักษิณเคยแย้มในเวทีหาเสียง อบจ.
ㆍขึ้นภาษีแวตเป็น 15-25%
ㆍลดภาษีนิติบุคคล 20% เหลือ 15%
ㆍดันจีดีพีปี 2568 โต 5%
ㆍทำงบขาดดุลกระตุ้นลงทุน
ㆍให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
ㆍทำค่าเงินบาทให้อ่อนดันส่งออก
ถ้าเป็นแนวคิดจริง ผมเห็นว่าเป็นการปรับภาษีเพื่อคนรวยมากกว่าคนจน
1 การขึ้นภาษีแวตจะกระทบคนจนอย่างกว้างขวาง
รัฐบาลแจกเงินฟรีอุดหนุนการบริโภคแบบมือเติบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกระทั่งมาถึงวันนี้ คงตาสว่างแล้วว่าทำให้กระเป๋าฉีก จึงต้องสาละวนหารายได้เพิ่ม เพื่อมาฉุดรั้งไม่ให้ขาดดุลงบประมาณปีนี้และปีต่อๆไปดิ่งลงเหว
ผมเตือนว่าการขึ้นภาษีแวตจะกระทบคนจนอย่างกว้างขวาง ทั้งจากปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังที่รุนแรงขึ้น และจะนำไปสู่เงินเฟ้อ ยิ่งจะทำให้ความหวังที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยเลือนลาง
รวมทั้งเมื่อกำลังซื้อประชาชนลดลง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามจะกระตุ้นให้ตัวเลขสูงขึ้น ก็จะกลับแผ่วลง
ผมเองเห็นด้วยที่จะต้องขึ้นภาษีแวตเพื่อเริ่มกระบวนการใช้คืนหนี้สาธารณะ แต่ควรจะขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น 1%
และควรจะใช้โอกาสนี้ ปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเพิ่มภาษีแวตสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นขั้นบันใด อาจจะสูงขึ้นเป็น 15% เป็นต้น
2 การปรับลดภาษีนิติบุคคลเพื่อคนรวย
คุณทักษิณเคยพูดบนเวทีว่า ไทยจำเป็นต้องลดภาษีนิติบุคคลเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น โดยลดลงไปเท่ากับอัตราของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว OECD
แนวคิดว่าไทยต้องลดภาษีนิติบุคคลให้เท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทยนั้น จะถูกต้อง ก็ต่อเมื่อไทยมีสภาพเศรษฐกิจสังคมเท่ากับประเทศเหล่านั้น
ธุรกิจข้ามชาติมีการถ่ายเทยักย้ายการลงทุนไปมา ระหว่างสหรัฐกับยุโรปและประเทศพัฒนาก้าวหน้าอื่นๆนั้น จะเปรียบเทียบหลายด้าน อัตราภาษี กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการขยายธุรกิจ กติกาแรงงานที่ยืดหยุ่น ต้นทุนพลังงาน การกีดกันการค้า ฯลฯ
แต่ธุรกิจข้ามชาติที่เล็งพิจารณาจะมาลงทุนในไทยนั้น ส่วนใหญ่หวังจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว โดยยกเว้นภาษีนิติบุคคลระยะเวลาหนึ่ง
ดังนั้น รัฐมนตรีคลังจะต้องอธิบายได้ว่าการลดภาษีนิติบุคคลจะช่วยดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ได้อย่างไร
ในทางกลับกัน รัฐบาลนี้อาจจะมองเลียนแบบตัวอย่างมาตรการของสหรัฐในสมัยทรัมป์ยุคแรก ที่มีการลดภาษีนิติบุคคลอย่างมาก จาก 35% เหลือ 21%
ที่ปรากฏว่า ทำให้ตลาดหุ้น Dow Jones พุ่งขึ้นในช่วง 4 ปี จากระดับ 2 หมื่นจุดไปเป็นระดับ 3 หมื่นจุด ทำให้นักลงทุนทั้งคนอเมริกันและคนต่างชาติได้ประโยชน์เต็มที่
ทรัมป์นำเสนอการลดภาษีนิติบุคคลดังกล่าวต่อรัฐสภา โดยอ้างว่าเมื่อนิติบุคคลมีกำไรเก็บอยู่ในมือมากขึ้น ผลประโยชน์ก็จะไหลลงเป็นชั้นน้ำตก
จะทำให้นายจ้างยินดีจ่ายค่าจ้างสูงขึ้น
แต่ผลการศึกษากลับพบว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่แต่ในมือนักลงทุน
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่า การลดภาษีนิติบุคคลไม่ได้ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ไม่อาจเทียบเท่ากับการยกระดับทักษะแรงงาน การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ หรือการยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ฯลฯ
แต่ในทางกลับกัน มีแต่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่คนรวย และกลุ่มนายทุน รวมทั้งรายได้ของรัฐที่หายไป ก็จะก่อปัญหา ไม่มีเงินชำระคืนหนี้สาธารณะที่รัฐบาลนี้ก่อขึ้นด้วย
ผมเสนอให้รัฐมนตรีคลังปรับแนวคิด ควรแก้ไขโครงสร้างภาษีเพื่อให้คนรวยต้องรับผิดชอบภาระต่อสังคมมากขึ้น
ต่อไป ประชาชนจะได้เข็ดหลาบต่อการเลือกนักการเมืองที่เข้ามาก่อหนี้สาธารณะเพื่อสร้างความนิยม
3 การทำงบประมาณขาดดุล จะกระตุ้นได้แต่เฉพาะการลงทุนภาครัฐ
ถ้ารัฐบาลมุ่งมั่นทำงบประมาณขาดดุล เพียงเพื่อแจกเอาไปอุปโภคบริโภค ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติจะไม่มากนัก
ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนขาดดุลงบประมาณ ไปเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติจะมากและยั่งยืน
ผมเคยแนะนำไว้แล้วว่า ถ้าหากรัฐมนตรีคลังหวังจะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ก็ยังไม่จำเป็นต้องไปวุ่นวายกับแบงค์ชาติลดดอกเบี้ย
แต่ควรจะหารือกับแบงค์ชาติเรื่องนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อกระตุ้นให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเปิดประตูให้แก่คนตัวเล็กเข้าถึงระบบมากขึ้น (ดูลิงค์แนบ)
ผมขอแนะนำให้รัฐมนตรีคลังขอความเห็นจากผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง อย่าไปเน้นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้แก่คนรวยหรือกลุ่มนายทุนของพรรคการเมือง