ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์พัฒนามหาวิทยาลัยรอบทิศโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง หนึ่งในบทบาทสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตสำหรับโลกการทำงาน โดยการส่งเสริมให้นิสิตมีทักษะที่พร้อมสำหรับการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และความสามารถในการตัดสินใจในสถานการณ์จริง ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่นิสิตจำเป็นต้องมีเพื่อที่จะสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีสมรรถนะและความพร้อม และจุฬาฯ เองก็เป็นองค์กรหลักที่ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) นำเสนอรายงาน The Future of Jobs 2025 พร้อมแนะนำทักษะแห่งอนาคตที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานจริง
โครงการ KTB Chula Student Enterprise ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และธนาคารกรุงไทย จึงเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงพันธกิจดังกล่าว ด้วยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ากับประสบการณ์จริงที่นิสิตจะได้รับจากโครงการฯ ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการการพัฒนาศักยภาพนิสิต ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 8 ว่าด้วย การสร้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ที่จะบ่มเพาะนิสิตรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่เหมาะสมและมีความสามารถตอบโจทย์โลกการทำงานได้อย่างแท้จริง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็น 1 ใน 5 Ecosystems หลักที่ธนาคารมุ่งเน้นนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีมาต่อยอด เพื่อสนับสนุนการยกระดับการศึกษาของประเทศให้ก้าวหน้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา ขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) ที่จะช่วยสร้าง Future Ready Talent ให้กับประเทศชาติ ส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ รู้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนในยุค New Normal พร้อมสร้างบุคลากร ประชากรที่มีศักยภาพให้กับประเทศ รวมทั้ง สร้างสังคม และสถาบันครอบครัว ระบบเศรษฐกิจให้มีความมั่งคั่ง อย่างมีคุณภาพ สมดุล และยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหลายๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาทักษะของนิสิต การจัดโครงการให้ความรู้ด้านการบริหารและพัฒนาธุรกิจให้กับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้ง การร่วมศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมเชิงลึกเพื่อแก้หนี้นอกระบบ
ความร่วมมือในโครงการ “KTB Chula Student Enterprise” ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านการทำงานจริง ซึ่งธนาคารกรุงไทยพร้อมเปิดรับและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโปรแกรม Chula-Krungthai Internship Program โดยเปิดโอกาสให้นิสิตจากคณะต่างๆ อาทิ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ เป็นต้น ได้เข้าฝึกงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ของธนาคาร ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยง หรือ Mentor คอยให้คำปรึกษา คำแนะนำในการแก้ปัญหาในการทำงานจริง พร้อมเปิดโอกาสชิงทุนในการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยสร้างบุคลากรคุณภาพที่โดดเด่นให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและธนาคารกรุงไทย ยังได้บรรลุข้อตกลงให้ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนสินเชื่อสวัสดิการสำหรับอาจารย์ และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครอบคลุมทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่ออเนกประสงค์ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องในการบริหารจัดการทางการเงินให้กับบุคลากรในทุกมิติ ภายใต้แนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมส่งเสริมความรู้ และการวางแผนทางการเงิน เพื่อความมั่นคงในระยะยาวต่อไป