
ผู้อยู่ในวงการบุหรี่ประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่ประเทศไทยถือว่าผิดกฎหมาย เป็นหนึ่งในมาตรการที่ดี แต่ไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าในไทย เกิดจากมีความต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ทำให้มีคนลักลอบนำเข้ามาขายยังผิดกฎหมาย
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ การออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้นที่เข้าถึงได้ ส่วนเด็กและเยาวชนจะต้องเข้าถึงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ปกติทที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศในขณะนี้แล้วก็ตาม
“นโยบายของนายกฯ รัฐมนตรี ที่ให้มีการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่ทางออกของปัญหา และอาจจะทำให้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าลงใต้ดินลึกลงไปอีก ทำให้รัฐบาลเข้าใจผิดว่าปราบปรามได้สำเร็จ แต่ความเป็นจริงปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ายังมีเหมือนเดิม และปราบปรามได้ยากขึ้นไปอีก” ผู้อยู่ในวงการบุหรี่ประเทศไทย เปิดเผย

ทีมปราบ บุหรี่ไฟฟ้า นายกฯ เตรียมชงมาตรการชุดใหญ่
ก่อนหน้านี้ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นประธานการประชุม ติดตามการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปราบปรามระยะเร่งด่วน และการประชาสัมพันธ์ ปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมาย พร้อมกับนำเสนอมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว
ที่ประชุมได้รับทราบรางาน สถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1-26 กุมภาพันธ์ 2568 มีการจับกุมปราบปรามไปแล้ว 666 คดี ยึดของกลางได้กว่า 4 แสนชิ้น รวมมูลค่า 41 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ ได้สั่งการในที่ประชุมว่าภายในวันที่ 7 มีนาคม หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและปราบปราม เช่น กรมศุลกากร กระทรวงมหาดไทย สคบ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีการปิดกั้นเว็บยูอาร์แอลต่างๆ ให้สรุปข้อมูลทั้งหมดไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลยอดการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าก่อนนำเรียนนายกรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ และจะมีการแถลงข่าวให้ประชาชนได้รับทราบ
นางสาวจิราพร กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะมีหน่วยงานต่างๆ รับแจ้งเบาะแส เช่น สายด่วน สคบ. 1599 สายด่วนกระทรวงดีอี 1212 หรือศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าได้ ขณะเดียวกัน สคบ.ได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ เพิ่มแบนเนอร์แจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะอีกด้วย
ขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาว สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (ดีจีเอ) กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส คาดว่าภายใน 1 – 2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ โดยจะมีการรวบรวมเบาะแสต่างๆ ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งแบบฟอร์มนี้จะแสดงยอดการแจ้งเบาะแส และยอดการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อจะได้เห็นความคืบหน้าการทำงานของเจ้าหน้าที่
นางสาวจิราพร กล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาวที่จะต้องมีประสิทธิภาพ คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งจะเรียนนายกรัฐมนตรีให้รับทราบตามกรอบระยะเวลา 15 วัน ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานเรื่องนี้ คือไม่เกินวันที่ 15 มีนาคมนี้ จะได้มีการหารือกันในประเด็นนี้