ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำในปี 2567 และ 2568 ที่ 2.5% และ 2.6% ตามลำดับ ในระยะต่อไปภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลักที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 ที่ 39.4 ล้านคน โดยการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์
ขณะที่การส่งออกไทยปี 2568 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง การผลิต
ของภาคอุตสาหกรรมที่แม้เริ่มทยอยฟื้นตัวตามการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสินค้าคงคลังสูงและอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ Board of Investment ที่ปรับดีขึ้นมาก
แต่การลงทุนจะยังเติบโตได้ไม่มากนัก จากภาคก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำและการลงทุนยานพาหนะที่ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัว สำหรับการบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงมากในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัว ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลงในปีหน้า ทั้งยังถูกกดดันจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอลงต่อเนื่องเพราะคุณภาพสินเชื่อด้อยลง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2567 ที่ยังต่ำ จึงมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการไม่จำเป็นมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติมจะมีข้อจำกัดมากขึ้นจากภาระการคลังสูง
โดย SCB EIC ประเมินว่าขณะที่โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570 นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนของ ครม. ชุดใหม่เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยมีจุดเน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง SCB EIC ประเมินชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้ สำหรับนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่สอดรับเทรนด์โลก และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว
ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง ฟันเฟืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน โดยเฉพาะ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป และ 2) ผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดัน จากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง อีกทั้ง ยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย ดังนั้น การผลักดันให้ภาคธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่กับนโยบายยกระดับความสามารถทางการเเข่งขันในระยะยาว
SCB EIC ประเมิน กนง. มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน สำหรับค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วหลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 และ 2568 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34 – 34.5 และ 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ