นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
จดหมายเปิดผนึกถึงประธาน คตง. ขอให้ตรวจสอบกองทุนวายุภักษ์
ด่วนที่สุด
วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๗
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการจ่ายเงินแผ่นดินเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑
เรียน พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ตามที่กระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีการจ่ายเงินแผ่นดินที่อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย นั้น
ข้าพเจ้าขอร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำการตรวจสอบ มีรายละเอียดดังนี้
๑. เงื่อนไขในโครงการเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินไปอุดหนุนแก่เอกชน
กติกาเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนสรุปได้ว่า มีนักลงทุน ๒ ประเภท คือ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. คือภาคประชาชน และ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. คือภาครัฐ ซึ่งในวันเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อนั้น กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เกือบทั้งหมด
ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนฯ แต่ละปี จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓ ต่อปี (ซึ่งสูงกว่าอัตราตอบแทนในตลาดสำหรับพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ ๑๐ ปี) แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ ๙ ต่อปี
ซึ่งกลไกคุ้มครองผลตอบแทนที่ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับในอัตราขั้นต่ำ ก็คือในแต่ละปี ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. หลังจากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจึงจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.
ซึ่งหมายความว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ยอมรับการถูกรอนสิทธิเอารายได้แต่ละปีของตนไปจ่ายชดเชยเป็นรายได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.
ทั้งนี้ ถ้าหากรายได้ในปีใดของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. มีไม่พอที่จะชดเชยให้ผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กติกายังกำหนดให้เอากำไรสะสมที่มีอยู่ขณะนี้ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท ไปจ่ายชดเชยสมทบได้ด้วย
ซึ่งหมายความว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ยอมรับการถูกรอนสิทธิเอาากำไรสะสมที่มีอยู่ขณะนี้ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาทของตนไปจ่ายชดเชยเป็นรายได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.
นอกจากนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนจนครบถ้วนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ซึ่งหมายความว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ยอมรับการถูกรอนสิทธิเอาเงินลงทุนของตน ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทไปจ่ายชดเชยคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.
กล่าวโดยสรุป โครงการนี้จึงเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งกระทรวงการคลังมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐ ไปจ่ายอุดหนุนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นเอกชน ทั้งที่ไม่มีวิธีการใดที่กระทรวงการคลังจะสามารถตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าเอกชนที่ยื่นจองซื้อนั้น จะมีคนต่างชาติใช้ชื่อของคนไทยเป็นนอมินีเพื่อฉวยประโยชน์ด้วยหรือไม่
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าในปี ๒๕๔๖ ที่มีการจัดตั้งกองทุนฯ โดยรัฐบาลประกันทั้งผลตอบแทนและเงินต้นให้แก่ประชาชนที่ลงทุนนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในกิจการของรัฐ แต่การระดมทุนครั้งนี้ในปี ๒๕๖๗ มิใช่เพื่อประโยชน์ในกิจการของรัฐ
แต่ได้เปิดขอบเขตขยายการลงทุนในกิจกรรมเสี่ยงอย่างกว้างขวาง เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้นของบริษัทคุณภาพระดับรองนอก SET๑๐๐ หุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ (Unlisted Securities) ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Non-investment Grade ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Junk bonds) หน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการที่กระทรวงการคลังจัดโปรโมชั่นโครงการลงทุนทำนองนี้ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายหลายประการ
(๑) ไม่ใช่กิจหน้าที่ของกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐ จึงอาจดำเนินการโดยพลการเกินกว่าอำนาจที่กฎหมายให้ไว้
(๒) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ภาคเอกชนสามารถโปรโมทได้เอง จึงอาจมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๕ วรรคสอง และ
(๓) การเข้าไปแทรกแซงอุ้มผู้ลงทุนในโครงการให้ไม่ต้องรับความเสี่ยงตามสภาพจริงของตลาดทุนซึ่งทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ได้เปรียบผู้ลงทุนกลุ่มทั่วไปที่ไม่ได้รับสิทธิจอง อาจเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๗
๒. เป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ากำไรสะสมที่มีอยู่ขณะนี้ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท และทรัพย์สินที่มีอยู่ขณะนี้ ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังนั้น เป็น “เงินแผ่นดิน” ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะตามกฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
แต่เท่าที่ข้าพเจ้าตรวจสอบ ไม่พบมีการดำเนินการดังกล่าว และข้าพเจ้าเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงหลายครั้งแต่ไม่ได้มีการชี้แจง
เหตุผลที่ถือเป็น “เงินแผ่นดิน” ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓ – ๔/ ๒๕๕๗ คดีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสนอร่างพระราชบัญญัติจะกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อใช้นอกระบบงบประมาณ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หน้า ๓๗ ซึ่งสรุปได้ว่า
“เงินแผ่นดิน” หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติโดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ
๓. ข้อร้องเรียน
เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นผู้เสียภาษีและเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าหากกระทรวงการคลังได้นำเอากำไรสะสมที่มีอยู่ขณะนี้ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท และทรัพย์สินที่มีอยู่ขณะนี้ ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง มาใช้พัฒนาบ้านเมือง โครงการนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าได้รับความเสียหายและเสียโอกาส อันเป็นการปฏิบัติต่อข้าพเจ้าอย่างไม่เป็นธรรม
จึงร้องเรียนขอให้ท่านโปรดพิจารณาสั่งการให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำการตรวจสอบเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินกรณีนี้เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำเนาเรียน
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน