ไทยยังห่างไกลเป็น ศูนย์กลางการเงินโลก

Date:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Center หรือ Financial Hub) หมายความถึง ศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเงิน โดยคุณสมบัติสำคัญคือ มีสถาบันการเงินหลากหลายประเภทและมีจำนวนมาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ สูงซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของปริมาณธุรกรรมข้ามพรมแดน มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รวมถึงมีกฎหมายและเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดช่วยให้ศูนย์กลางทางการเงินมีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมและมีความหลากหลาย

รายงาน Global Financial Centres Index 36 (GFCI)  ได้ประเมิน “กรุงเทพฯ” ที่อันดับ 95 เมื่อเดือนกันยายน 2567 ลดลงจากอันดับที่ 93 เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ขณะที่หากเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคหรือโลก อย่างเช่น นิวยอร์ก (อันดับ 1) ลอนดอน (2) ฮ่องกง (3) สิงคโปร์ (4) หรือดูไบ (16) จะพบว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มาก เนื่องจากเมืองศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ เหล่านั้น ได้รับการออกแบบกฎกติกา เกณฑ์ด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนอย่างมาก นอกจากนี้ เมืองเหล่านั้น ยังมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาทิ สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทางการเงิน (Wealth Management) ขณะที่ ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่จีนและประเทศอื่นในโลก ทำให้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ เช่น Investment Bank และ Trade Finance เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า  ไทยเก่งอะไร?  จากสายตาของต่างชาติ ซึ่งไทยถูกมองว่ามีจุดแข็งหลายด้าน โดยในมิติของการค้าภายในอาเซียน เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในการรับชำระค่าสินค้าส่งออก และจ่ายเป็นค่าสินค้านำเข้า กับคู่ค้าในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะการค้ากับกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมาร์

        นอกจากนี้ พัฒนาการของตลาดการเงินไทยที่มีความเป็นสากล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโลจิสติกส์ที่ดี อีกทั้งยังมีค่าครองชีพที่อยู่ในระดับที่ยังไม่สูงนัก มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและเปิดกว้าง ดังจะเห็นได้จากภาพที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลก อาทิ InterNations ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติ ได้จัดอันดับเมืองที่น่าอยู่และน่าทำงานที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติ ในปี 2566 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดอันดับ 9 ของโลกสำหรับชาวต่างชาติ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น คุณภาพชีวิต ค่าครองชีพ และความพึงพอใจในอาชีพการงาน ขณะเดียวกัน นิตยสาร Time Out จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกในปี 2568 โดยเน้นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหาร และความสุขของคนในเมือง เป็นต้น
        จุดแข็งข้างต้นทั้งด้านโครงสร้างดิจิทัล โลจิสติกส์ ความเป็นเมืองน่าอยู่ และมาตรฐานของสถาบันการเงินไทย ถือเป็น ‘ปัจจัยตั้งต้น’ สำหรับไทยที่ต้องการขยายบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคต
        อย่างไรก็ตาม หากต้องการขยายบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการตอบรับจากต่างชาติมากขึ้นกว่านี้ ยังต้องอาศัยการเร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย การสนับสนุนให้มี Talent จากต่างชาติเข้ามามากขึ้น การลดภาษีและการผ่อนคลายเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ควบคู่กับการพัฒนาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยประกอบด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการออกกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน พ.ศ…. ขณะที่ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังต้องร่วมมือกันพัฒนา เพื่อให้ไทยสามารถมีพื้นที่ยืนที่ดีขึ้นในเวทีการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอย่างแท้จริง

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เดินหน้าใช้มาตรการจัดการปัญหา นิติบุคคลผี หลอกลวงประชาชน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจงมาตรการป้องกันนิติบุคคลผีหลอกลวงประชาชน หยุดยั้งความเสียหายที่อาจขยายวงกว้าง 

สนค. จับตาแนวโน้มภาค การท่องเที่ยวไทย

สนค. จับตาแนวโน้มภาค การท่องเที่ยวไทย สู่โอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

ตลาด เครื่องปรุงรสไทย ในเกาหลีใต้โตต่อเนื่อง

“พาณิชย์” เผยตลาด เครื่องปรุงรสไทย ในเกาหลีใต้โตต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการไทยทำหีบห่อใช้ง่าย รีไซเคิลได้

ส่งออกสินค้าเกษตรไทย ปี 67 มูลค่าหมื่นล้าน

พาณิชย์เผยสถิติที่สุดแห่งปี การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ปี 67 มูลค่าหมื่นล้าน